นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ค้นพบตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารเคมีมูลค่าสูง

"วัสดุโครงข่ายโคออร์ดิเนชันของแลนทาไนด์: ตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารเคมีมูลค่าสูง"

.

การสะสมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี จนทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักวิจัยทั่วโลกได้พยายามจัดการกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ แนวทางหนึ่งที่มีความยั่งยืนกว่าการกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ก็คือการเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารเคมีมูลค่าสูงเป็นวิธีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

.

กลุ่มวิจัยของ รศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ นางสาวมาลี สินเช้า นักศึกษาระดับปริญญาเอก อ.ดร.นัทธวัฒน์ เสมากูล จากภาควิชาเคมี และศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ Professor Takumi Konno จากมหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกแบบและสังเคราะห์วัสดุโครงข่ายโคออร์ดิเนชันของโลหะแลนทาไนด์ (Lanthanide based coordination polymers) และศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมโดยใช้เทคนิคผลิกศาสตร์รังสีเอกซ์

.

กลุ่มวิจัยสามารถใช้วัสดุดังกล่าวเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการสังเคราะห์สารเคมีมูลค่าสูงที่มีชื่อว่า “ไซคลิกคาร์บอเนต” โดยอาศัยปฏิกิริยาการรวมตัวกันระหว่างแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และอีพอกไซด์ พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่พัฒนาขึ้นสามารถเร่งปฏิกิริยาได้ถึง 700 รอบต่อชั่วโมง นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวยังสามารถถูกใช้ซ้ำได้มากกว่า 10 ครั้ง ผลการศึกษาดังกล่าวได้รายงานในวารสาร ACS Sustainable Chemistry & Engineering ซึ่งมี Impact Factor 2020: 8.198 (Q1, ISI/Scopus)

.

โดยความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับตำแหน่งเร่งปฏิกิริยาจะนำไปสู่การออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการเปลี่ยนเป็นสารเคมีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

.

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Sinchow, M., Semakul, N., Konno, T., Rujiwatra, A. Lanthanide Coordination Polymers through Design for Exceptional Catalytic Performances in CO2 Cycloaddition Reactions 𝐴𝐶𝑆 𝑆𝑢𝑠𝑡𝑎𝑖𝑛𝑎𝑏𝑙𝑒 𝐶ℎ𝑒𝑚. 𝐸𝑛𝑔. 𝟐𝟎𝟐𝟏, 9, 8581–8591 (https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acssuschemeng.1c01955)

Powered by Froala Editor